ฆ่ามอดในข้าวสารด้วยคลื่นวิทยุ นวัตกรรมเพื่อ 'ข้าวไทยไร้สารพิษ'

ข้าว นับว่าเป็นสินค้าหลักและเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากทักษะความสามารถในการเพาะปลูกที่ได้รับถ่ายทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ในการเพาะปลูกจึงทำให้ข้าวยังคงเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่มีการส่งการส่งออกไปยังต่างประเทศ แต่ปัญหาสำคัญของเกษตรไทยนั้นคือการใช้สารเคมีตั้งแต่เริ่มต้นเพาะปลูกไปจนถึง การเตรียมผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออกขายจึงทำให้ข้าวของไทยถูกลดระดับความน่าเชื่อถือ อันมาจากสารพิษตกค้างในข้าว ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับมาตรฐานการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจึงมีปัญหา แต่อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคในประเทศที่จะต้องบริโภคข้าวที่มีสารพิษเจือปนและเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยเฉพาะในขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่ข้าวจะมาถึงผู้บริโภค นั้นคือช่วงการผลิตข้าวถุง จะมีแมลง เช่น มอด ซึ่งถือเป็นศัตรูของข้าวตามธรรมชาติ โดยอาจเกิดขึ้นและเติบโตได้จากการเก็บข้าวสารไว้ เป็นระยะเวลาหนึ่งได้ หากไข่ของมอดที่ตกค้างในเมล็ดข้าวได้รับออกซิเจนและอยู่ในภาวะอุณหภูมิที่เหมาะสม จะเร่งให้มอดสามารถเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้เป็นอย่างดี มอดที่เราสามารถพบได้ในข้าวสารมีอยู่หลายชนิดรูปร่างและลักษณะแตกต่างกันออกไป แต่มอดที่เราพบได้บ่อยๆคือ มอดข้าวสาร (Rice weevil) จะเข้ามากัดกินข้าวที่ได้รรับการขัดสีแล้ว และมีผลต่อความเสียหายของข้าวสาร ซึ่งหากมีการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายในช่วงนี้ ย่อมส่งผลให้มีสารเคมีตกค้างภายในข้าวได้มาก สำหรับผู้บริโภค ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีที่ปลอดสารพิษ จึงเป็นหนทางที่จะแก้ปัญหาอันตรายจากสารเคมีนี้ได้ ด้วยแนวความคิดดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ การใช้คลื่นวิทยุ ฆ่ามอดในข้าวสาร

การพัฒนาเทคโนโลยีฆ่ามอดในข้าวสารด้วยคลื่นความถี่วิทยุนั้น
ได้เริ่มต้นขึ้นมาจาก ทีมนักวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)
นำโดย "รศ.ดร.สุชาดา เวียรศิลป์" หัวหน้าทีม โดยใช้เวลาในการพัฒนาถึง 13 ปี
กับการวิจัยพัฒนา "เครื่องมือต้นแบบฆ่ามอดด้วงงวงในข้าวสาร
ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ" เพื่อทดแทนการรมแก๊สเมทิลโบรไมด์ จนประสบผลสำเร็จ
สามารถใช้ได้จริงในอุตสาหกรรมผลิตข้าวสารส่งออก มีคุณสมบัติพิเศษคือ
ข้าวทุกเมล็ดปลอดจากสารพิษตกค้าง และไม่เกิดความเสียหายต่อคุณค่า
ทางโภชนาการอีกด้วย

รศ.ดร.สุชาดา ได้กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจะทำงานวิจัย
ในด้านการกำจัดเชื้อรา และกำจัดแมลงศัตรูพืชในนาข้าวที่ไม่ใช้สารเคมี เพราะปัญหาเหล่านี้ถือเป็นปัญหาใหญ่ของชาวนาไทย จนกระทั่งเมื่อ 13 ปีก่อนเห็นว่า การฆ่ามอดด้วงงวงในข้าวสารหลังจากสีข้าวแล้วจะใช้วิธีการรมแก๊สเมทิลโบรไมด์ มีชื่อทางเคมี คือ Bromomethane มีข้อได้เปรียบกว่าสารรมชนิดอื่นๆ คือ สามารถฆ่าแมลงได้ทุกระยะการเจริญเติบโต มีความสามารถในการฟุ้งกระจาย และแทรกซึมเข้าไปในสินค้าได้ดี ขณะเดียวกันก็สามารถระบายสารออกจากกองสินค้าได้เร็วเมื่อสิ้นสุดการรม และที่สำคัญ คือ ใช้ระยะเวลาในการรมสั้น และเป็นสารที่ไม่ติดไฟซึ่งจะทำให้การปฏิบัติงานง่ายขึ้น หากมนุษย์รับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณเข้มข้นสูงภายใน 2-3 ชั่วโมง หรือต่อเนื่อง 2-3 วัน จะมีอาการเจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด ผิวหนังเป็นผื่นพุพอง ระยะยาวระบบประสาทส่วนกลางจะถูกทำลาย มองเห็นไม่ชัด แขนขาชา อาจถึงกับหมดสติ ได้เลยทีเดียว แต่สิ่งที่ทำให้ทั่วโลกต่อต้าน การใช้เมทิลโบรไมด์ เพราะ เมทิลโบรไมด์ สามารถระเหยหรือแพร่กระจายเข้าสู่ชั้นบรรยากาศได้อย่างรวดเร็ว จึงมีส่วนสำคัญในการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน หมายถึงสารตัวนี้เวลาที่ระเหยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศมันจะกักเก็บความร้อนไว้ ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน ประชาคมโลกจึงเฝ้าระวังปริมาณการใช้สารเมทิลโบรไมด์มากขึ้น หากทั่วโลกใช้ปริมาณมหาศาลจะส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนอย่างรวดเร็วทำให้ต้องทำตามข้อตกลงคือลดหรือควบคุมการใช้สารที่ทำลายชั้นโอโซนของโลก จึงทำให้มีการลงนามในพิธีสารมอนทรีออล (พิธีสารมอนทรีออล ว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน" (Montreal Protocol on Substances That Deplete the Ozone Layer) ปัจจุบันมีสมาชิก 177 ประเทศ ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี พ.ศ. 2532 ) เพื่อลดปริมาณการใช้ และนำไปสู่การเลิกใช้ในที่สุด เมทิลโบรไมด์เป็นสารที่ถูกตั้งเป้าไว้ว่าจะเลิกใช้กับสินค้าเกษตรในประเทศไทยทั้งหมดภายในปี 2558 แต่อนุญาตให้ใช้เฉพาะในสินค้าที่จะส่งไปยังต่างประเทศเท่านั้น เพราะสารตัวนี้ช่วยป้องกันแมลงได้ดีระหว่างขนส่งระยะทางไกลที่ประเทศคู่ค้าข้าวสารกับไทยเริ่มหันมาสนใจในเรื่องนี้ ส่งผลให้หันมาเริ่มวิจัยภายในห้องแล็บ เพื่อหาวิธีฆ่ามอดในข้าวสารด้วยคลื่นความถี่วิทยุ เมื่อพบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะใช้ในวงการอุตสาหกรรมข้าวสาร จึงทำเรื่องขอทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) และได้รับทุนการวิจัยเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาเครื่องมือต้นแบบฆ่ามอดในข้าวสารภายใต้โครงการวิจัยสร้างเครื่องมือต้นแบบและพัฒนาวิธีการกำจัดด้วงงวงในข้าวสารด้วยเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุขึ้นมา จนประสบผลสำเร็จและได้กลายมาเป็นเครื่องต้นแบบของการฆ่ามอดในข้าวสารขึ้นมาได้

สำหรับเครื่องมือต้นแบบฆ่ามอดในข้าวสารจะใช้คลื่นวิทยุ (Radio Frequency Heating) ทดแทนการใช้รมแก๊ส ที่ใช้ได้จริงในอุตสาหกรรมผลิตข้าวสาร โดยเฉพาะข้าวสารถุง และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคเพราะปราศจากสารเคมี โดยวิธีการดังกล่าวจะทำให้มอดตาย รวมถึงไข่มอดจะฝ่อในเวลา 1-2 นาทีเท่านั้น โดยการดำเนินการนั้น จะเริ่มจากการโหลดข้าวสารขึ้นไปไว้ด้านบนของเครื่องมือต้นแบบดังกล่าว จากนั้น จะปล่อยข้าวลงสู่ปล่องฆ่ามอด ด้วยการปล่อยความถี่คลื่นวิทยุที่ระดับความถี่ 27 เมกะเฮิรตซ์ ภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมงภายใต้ภายใต้อุณหภูมิสูง 50-55 องศาเซลเซียส สามารถฆ่ามอดในข้าวสารได้ 1 ตันให้กลายเป็นคลื่นความร้อน ขณะที่เมล็ดข้าวไม่เกิดความเสียหายทั้งรูปทรงของเมล็ดข้าวและคุณค่าทางโภชนาการแต่อย่างใด รวมถึงจะช่วยลดความชื้นกับข้าวและทำให้ข้าวหุงขึ้นหม้อมากยิ่งขึ้นเสมือนข้าวเก่าอายุ 3 เดือนได้อีกด้วย ปัจจุบันทางคณะผู้วิจัยได้ทดลองนำเครื่องฆ่ามอดต้นแบบไปใช้ในโรงสีของเอกชนหลายแห่ง ผลปรากฏว่าสามารถนำไปใช้งานได้จริง ทำให้ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการโรงสีข้าวหลายรายที่ให้ความสนใจที่จะนำเทคโนโลยีนี้ไปต่อยอด แต่อย่างไรก็ตามทางผู้ประกอบต้องการกำลังผลิต 5 ตันต่อชั่วโมง สูงกว่าความสามารถของเครื่องในปัจจุบันถึง 5 เท่า ดังนั้นขั้นตอนต่อไปของคณะผู้วิจัยจะมีการพัฒนาต่อยอดให้เครื่องขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมผลิตข้าวสารต่อไป

ด้าน รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร สวก.ได้กล่าวชื่นชม เครื่องมือต้นแบบฆ่ามอดในข้าวสารจะใช้คลื่นวิทยุ นับเป็นทางเลือกและทางรอดของวงการส่งออกข้าวไทย เนื่องจากการส่งออกข้าวไทยพบว่าปัญหาใหญ่คือมีสารพิษเจือปนที่เกิดจากการที่ใช้ยาฆ่ามอดด้วยการรมแก๊สเมทิลโบรไมด์ ขณะที่ประเทศเทศคู่ค้าห้ามไม่ให้มีการรมสารเคมีในข้าว ฉะนั้นครื่องต้นแบบฆ่ามอดในข้าวสารผลงานของวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ที่ใช้หลักการการสั่นสะเทือนของโมเลกุลในวัตถุด้วยความถี่ของคลื่นที่เหมาะสม ต่อการสั่นสะเทือนโมเลกุลในตัวของมอดข้าว เพื่อก่อให้เกิดความร้อนอย่างรวดเร็วกว่าโมเลกุลเมล็ดขาว ซึ่งเป็นสาเหตุทําให้มอดข้าวตายก่อนที่เมล็ดข้าวจะเกิดความร้อน ทำให้เมล็ดข้าวไม่เสียหาย โดยมีความมั่นใจว่า เครื่องต้นแบบฆ่ามอดในข้าวสารสามารถใช้ได้จริงในระดับอุตสาหกรรม และสามารถทดแทนสารเคมีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศด้วย ขณะที่ผู้บริโภคปลอดภัย แต่สำหรับภาคเอกชนถือว่ายังไม่เพียงพอกับปริมาณการส่งออกในแต่ละปี จึงต้องพัฒนาปรับปรุงเรื่องความเร็วให้มากขึ้น เพื่อต่อยอดขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งต่อไปเครื่องฆ่ามอดต้นแบบชิ้นนี้จะถูกนำไปทดสอบจริง โดยติดตั้งที่โรงสีเอกชน และเครื่องไซโล เพื่อทดสอบดูกระบวนการและประสิทธิภาพจริง ถือเป็นโครงการในระยะต่อไปนั้นเอง

วิเคราะห์
1. การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการเกษตร ด้วยการนำ คลื่นวิทยุมาประยุกต์ใช้สำหรับการฆ่ามอดจากเดิมต้องใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย (เมธิลโบไมด์) อันจะเป็นอันตรายต่อทั้งผู้ใช้ คือ เกษตกร, ผู้ผลิตข้าวสาร และที่สำคัญคือ ผู้บริโภคที่มีโอกาสได้รับอันตรายจากสาร เมธิลโบไมด์ได้ แม้ว่าจะมีการยืนยันจากหน่วยงานกรมวิชาการเกษตร ผ่านการเสวนาทางวิชาการซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นแพทย์ นักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ นักโภชนาการ นักพิษวิทยา นักการเกษตร คณาจารย์จากสถาบันการศึกษา สมาชิกเครือข่ายผู้บริโภค และตัวแทนจากมูลนิธิชีววิถีและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (หลังจากมีข่าวอันตรายของเมทิลโบไมด์ตกค้างซึ่งผู้บริโภคที่สุ่มเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง) ได้ข้อสรุปถึงสารตกค้าง จากเมธิลโบไมด์ ได้ข้อสรุปที่สำคัญ 4 ประเด็น ดังต่อไปนี้
• การหาปริมาณสารรมควันพิษเมทิลโบรไมด์ตกค้างในข้าวสารบรรจุถุงของทุกหน่วยงาน คือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิชาการเกษตร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค/มูลนิธิชีววิถี วัดค่าการตกค้างของสารโบรไมด์อิออนเหมือนกัน และแปลผลโดยเปรียบเทียบกับค่าปริมาณการตกค้างสูงสุดของโบรไมด์อิออนของโคเด็กซ์ (Codex MRL)ซึ่งกำหนดไว้ที่ 50 ppm เช่นเดียวกัน ผลการตรวจวิเคราะห์พบการตกค้างสอดคล้องกันในข้าวสารบรรจุถุงยี่ห้อโคโค่ ดังนั้นทุกฝ่ายต่างเข้าใจตรงกันว่า วิธีการตรวจวัด ผลการตรวจ และการแปลผลของมูลนิธิชีววิถีและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมิได้ผิดพลาด สับสน หรือแปลผลไม่ถูกต้องแต่ประการใด

• ทุกฝ่ายเห็นร่วมกันว่าอันตรายของเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์อิออนมีความแตกต่างกัน โดยเมทิลโบรไมด์มีพิษเฉียบพลันต่อผู้ใช้ และระยะยาวมีแนวโน้มเป็นสารก่อมะเร็ง ในขณะที่โบรไมด์อิออนที่ตกค้างเกิน 50 ppm มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เพราะโบรไมด์อิออนจะแย่งจับไอโอดีนในร่างกาย ทำให้เป็นปัญหากับประชาชนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มประชากรที่ขาดไอโอดีน ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ หรือประชากรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากทะเล เช่น บางมณฑลของจีนแผ่นดินใหญ่ สาธารณรัฐเช็ก และประชากรในพื้นที่ภาคอีสาน หรือภาคเหนือของไทยที่ยังพบว่ามีบางส่วนขาดไอโอดีน

• ข้อมูลการขจัดโบรไมด์อิออนที่ตกค้างโดยการซาวน้ำและหุงของมูลนิธิฯและหน่วยงานราชการมีส่วนที่สอดคล้องกันและแตกต่างกัน โดยเมื่อเปรียบเทียบงานวิจัยของ Nakamura และคณะ (1993)ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารระหว่างประเทศที่น่าเชื่อถือ และการทดลองเบื้องต้นโดยกรมวิชาการเกษตร พบว่ามีผลการวิจัยบางส่วนใกล้เคียงกัน คือ การซาวน้ำสามารถลดการตกค้างได้บางส่วน กล่าวคือ Nakamura นำข้าวมาซาวน้ำ 3 ครั้งๆละ 5 นาที จะเหลือโบรไมด์อิออนตกค้าง 51% ในขณะที่การทดลองของกรมวิชาการเกษตร พบว่า เมื่อซาวน้ำ 1 ครั้ง จะเหลือโบรไมด์อิออนตกค้าง 60.6% และเมื่อซาวน้ำ 2 ครั้งจะเหลือโบรไมด์อิออนตกค้าง 46.2% แต่มีความแตกต่างกันของปริมาณการตกค้างหลังหุง ซึ่ง Nakamura พบว่ายังเหลือโบรไมด์อิออนตกค้างถึง 41.2% ในขณะที่การทดลองของกรมวิชาการเกษตรระบุว่าเหลือโบรไมด์อิออนตกค้างเพียง 15.4% จากความแตกต่างของผลการทดลองดังกล่าว จึงควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในประเด็นนี้เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค

• การกำหนดค่า MRL ในข้าวสาร ยังจำเป็นต้องหาข้อมูลและทำความเข้าใจเพิ่มเติมดังต่อไปนี้ - การกำหนดค่า MRL โบรไมด์อิออนของประเทศจีน โดยมูลนิธิฯอ้างอิงจากฐานข้อมูล ของกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ( USDA International Maximum Residue Level Database) ที่ระบุค่าเพียง 5 ppm แต่กรมวิชาการเกษตรแจ้งว่าได้ถามไปยังหน่วยงานของจีนแล้วได้รับคำตอบว่าตัวเลข 5 ppm เป็นการกำหนดค่าเมทิลโบรไมด์มิใช่โบรไมด์อิออน ที่ประชุมเห็นว่าควรนำหลักฐานที่ชัดเจนมากกว่านี้เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงของแต่ละฝ่ายในเรื่องนี้ - สำหรับค่า ADI ของโบรไมด์อิออนที่ Codex กำหนดไว้ 1 มก./กก. น้ำหนักตัว ต่อวัน นั้นมี งานวิชาการของ Van Leeuwen และคณะ (1983) ได้ทำการวิจัยและเสนอให้มีการปรับค่า ADI ว่าควรจะอยู่ที่ 0.1 มก./กก. น้ำหนักตัว ต่อวัน เท่านั้น (ซึ่งค่า ADI มีความสำคัญต่อการกำหนดค่า MRL ต่อไป) ซึ่งในกรณีนี้มูลนิธิฯเห็นว่าประเทศไทยควรกำหนดค่า MRL ของโบรไมด์อิออนให้ต่ำกว่าค่าของ Codex และประสงค์จะขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดค่าดังกล่าวของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับประเด็นที่น่าสนใจ คือ ที่มาผ่านมาเราในฐานะผู้บริโภคไม่เคยได้รับรู้ข้อมูล ตามที่หนวยงานราชการนำมาชี้แจง มาก่อนถึงสารเคมีที่อันตรายต่อสุขภาพและต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจมีสารตกค้างอยู่สำหรับผู้บริโภคได้ ดังนั้น ในฐานะผู้บริโภคเราจึงจำเป็นต้องรับทราบถึงอันตรายของสารเคมีที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้า ด้วยการให้ความสำคัญกับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันตนเองจากอัตรายที่มีโอกาสได้รับจาก สารเคมี

2. การพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองต่อ การผลิตสินค้าภายในประเทศอย่างข้าว ซึ่งถือเป็นอาหารหลักของคนไทยและมีอัตราการบริโภคสูง และอุตสาหกรรมการเกษตรของไทย ถือได้ว่าเป็นจุดแข็งสำคัญด้านหนึ่งในการแข่งขันบนเวทีโลก โดยทางสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตรกำหนดยุทธศาสตร์อยู่ 5 ด้านในเรื่องของข้าว

• ปรับปรุงพันธุ์ข้าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อรองรับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงรวมถึงเรื่องของโรคที่จะระบาด แมลง น้ำท่วมน้ำแล้ง ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลาในการวิจัย
• พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตข้าว
• การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเรามีอยู่ด้วยกัน 2 ปัญหาใหญ่ คือการรักษาคุณภาพข้าวและแมลงศัตรูพืช ระบบอบหลังการเก็บเกี่ยวข้าว การสีข้าว ตอนนี้เรามีงานวิจัยที่ช่วยพัฒนาในเรื่องของลูกกลิ้งที่ใช้ในการสีข้าวเพื่อลดการแตกหักของข้าว และที่น่าสนใจก็คือการฆ่ามอดด้วยเครื่องวิทยุ
• การเพิ่มมูลค่า
• เศรษฐกิจสังคมของชาวนา ทำยังไงให้ชาวนามีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

จากข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ได้รับงบประมาณในการพัฒนางานวิจัยด้านข้าวมาตั้งแต่ปี 55 โดยได้จัดสรรให้แก่นักวิจัยใน 60 โครงการ เป็นเงิน 228 ล้านบาท และในปี 56 ได้รับงบ 190 ล้านบาท จัดสรรแก่นักวิจัยใน 67 โครงการ จากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานราชการต่างๆ ที่สำคัญในปี 57 รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณให้อีก 200 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยด้านข้าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากมองในด้านเงินลงทุนที่ใช้ไปสำหรับงานวิจัยทางด้านข้าวโดยเฉพาะนั้น ถือได้ว่ามีอัตราที่สูงมาก หากผลงานวิจัยที่สามารถนำมาใช้กับ การพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรได้นั้น กลับไม่ชัดเจน โดยจะเห็นได้ว่า การนำเทคโนโลยี คลื่นวิทยุมาใช้เพื่อกำจัดมอดนั้นเป็นแนวคิดที่ดี แต่ในวงการอุตสาหกรรมยังไม่สามารถนำมาใช้จริงได้ เพราะอัตราการผลิต ของเครื่องจักรฆ่ามอดในขั้นทดลองนั้น มีอัตราการทำงานได้ค่อนข้างต่ำมากกล่าวคือ ใน 1 วัน สามารถฆ่ามอดในข้าวผ่านคลื่นวิทยุ ได้เพียง 40 ตัน ( ระยะเวลางาน 8 ชั่วโมงต่อวัน ) ซึ่งหากจะมองว่าเป็นเพียงเครื่องต้นแบบ ยังต้องรอการพัฒนา แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ระยะเวลาที่ทำการทดลองนั้น คณะผู้วิจัย ได้คิดค้นมากว่า 2 ปี จึงทำให้ต้องติดตามต่อไปว่า จะสามารถำเครื่องจักรต้นแบบไปใช้ได้จริงในวงการเกษตรกรรมได้จริงเมื่อไร เพราะโครงการนี้ รวมอยู่ในโครงการการพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาทางด้านข้าว ซึ่งมีการขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาลถึง 560 ล้านบาท (รวมทั้ง 5 ยุทธศาสตร์) สำหรับประชาชนนั้น ย่อมต้องการเห็นเทคโนโลยีนี้นำมาใช้ได้จริงในเร็ววัน เพราะจะเป็นเทคโนโลยี ที่เข้ามาช่วยลดความเสี่ยงการรับสารพิษ เมทิลโบร์ไมด์ แม้จากการผลการทดลองจะมีข้อมูลว่าไม่มีสารตกค้างมาสู่ผู้บริโภค แต่ผลการวิจัยของแต่ละหน่วยงานโครงการที่แตกต่างกัน จึงทำให้ผู้บริโภคเอง จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อหลี่กเลี่ยง การรับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย อันจะนำมาซึ่งอันตรายสำหรับผู้บริโภคได้

3. การเรียนรู้ที่จะนำเทคโนโลยีใกล้ตัวมาประยุกต์เพื่อพัฒนาการเกษตรของไทย สำหรับเกษตรแล้ว ย่อมมีต้นทุนในการผลิตสูง แต่มีรายได้จากการผลิตต่ำ ดังนั้น การทำโครงการเพื่อที่จะเข้ามาสนับสนุนต่อการเกษตรมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่มีคณะ,หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการเกษตร จำเป็นต้องเข้ามาช่วย้ลือในเรื่องของเทคนิควิธีการที่จะสามารถทำให้ เกษตรสามารถดำเนินการแก้ปัญหาจาการผลิตได้เอง ในกรณีของ เครื่องฆ่ามอดด้วยคลื่นวิทยุนี้เป้าหมาย เพื่อ อุตสาหกรรมการเกษตร นั้นหมายถึงผู้ที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการนี้ คือผู้ประกอบการโครงสีขาว แต่สำหรับเกษตรนั้น ไม่ได้ประโยชน์โดยตรง ซึ่งโครงการต่างๆที่มีการวิจัยนั้นใช้เงินสนับสนุนค่อนข้างสูงมาก หากหน่วยงานของรัฐไม่ให้ความสำคัญของการวิจัยเพื่อพัฒนาผลผลิตของเกษตกรตั้งแต่ขั้นการผลิต ก็ย่อมเป็นไปได้ยากที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดอย่างมีคุณภาพ รวมถึง หากหน่วยงานของรัฐยังคงส่งเสริมให้มีการใช้สารเคมีในการทำการเกษตร ก็มีโอกาสที่จะลดทอนอำนาจในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรของไทยในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะ แนวโน้มปัจจุบันของโลกหันมาให้ความสำคัญกับ สุขภาพ กันมากขึ้น ดังนั้น หากสินค้าของไทยยังคงผูกติดกับการใช้สารเคมี ย่อมตัดโอกาสในการแข่งขันกับตลาดในต่างประเทศอย่างแน่นอน รวมถึง การที่ยังคงยินยอมให้มีการใช้สารเคมีในสินค้าเกษตรโดยขาดการควบคุม ย่อมจะส่งผลร้ายต่อประชากรในประเทศเองที่จะต้องรับประทานอาหารที่มีสิ่งเจือปน ร่างกายได้รับสารพิษ และจะนำมาซึ่งความเจ็บป่วย จึงเป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องเข้ามาดูแลค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนเพิ่มขึ้นเป็นวัฏจักร โดยเฉพาะ ในอีกไม่เกิน 10 ปี ข้างหน้าที่ประชาชนผู้สูงอายุจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นด้วย หากไม่ให้ความสำคัญต่อสุขภาพของประชาชน ย่อมนับมาซึ่งรายจ่ายมหาศาลของรัฐบาลอย่างแน่นอน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่สำคัญของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องลงมาให้ความสำคัญต่อสารเคมี ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลประชาชนอย่างแท้จริง รวมถึงประชาชนเอง จำเป็นต้องใส่ใจสุขภาพของตนเองด้วย เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระของสังคมต่อไปในอนาคต

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
http://www.komchadluek.net/detail/20131010/170091.html
http://prachatai.com/journal/2013/08/48099
http://www.naewna.com/politic/61538
http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowledge/25222/
http://it.doa.go.th/pibai/pibai/n11/v_11-sep/ceaksong.html

Unless otherwise stated, the content of this page is licensed under Creative Commons Attribution-ShareAlike 3.0 License